Human Library คืออะไร
การจัดห้องสมุดมนุษย์ (Human library : HL) คือ นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการจัดห้องสมุด ซึ่งการจัดห้องสมุดมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาและใช้เป็นสื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมและสังคมแห่งการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่งที่ใช้งบประมาณน้อยแต่มีคุณค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้วิทยาทาน/ความรู้เป็นการสร้างกุศลสำหรับผู้เป็นหนังสือมีชีวิต (living books) และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่าน สำหรับการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย ผศ.ดร.คงศักดิ์ สังฆมานนท์ ซึ่งผู้ริเริ่มดำเนินการห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย ได้มีแนวคิดว่าควรจัดเป็น “เครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย (Thailand Human Library Network : THLN)” เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างห้องสมุดในประเทศไทย ในการจัดตั้ง ส่งเสริม และพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ให้แพร่หลายและมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสืบไป
กรอบแนวคิดในการพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ มีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้
1. ผู้จัด (Organizer) ต้องมีผู้ทำหน้าที่เขียนโครงการจัดตั้งหรือพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ และดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว โดยปกติผู้ที่เหมาะกับหน้าที่นี้คือบรรณารักษ์หรือนักวิชาการศึกษาประจำห้องสมุด
2. ผู้ที่เป็นหนังสือมีชีวิต (Living books) ต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหนังสือมีชีวิตเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวหรือความรู้ที่ตนเชี่ยวชาญด้วยความสมัครใจและไม่หวังผลตอบแทนเป็นค่าจ้าง ซึ่งหนังสือมีชีวิตควรมีหลากหลายสาขา
3. ผู้อ่าน (Readers) ต้องมีกลุ่มเป้าหมายหรือบุคคลที่จะยืมหนังสือมีชีวิตมาอ่าน ซึ่งควรมีการเชิญชวนหรือจัดตั้งไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้การจัดห้องสมุดมนุษย์แต่ละครั้งมีความเคลื่อนไหว สีสัน และไม่ล้มเหลว เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมและประเทศไทย
4. เวลาและสถานที่จัด (Location) ควรมีสถานที่จัดที่เหมาะสม อาจจะอยู่ภายในหรือนอกอาคารห้องสมุดก็ได้ และควรเลือกช่วงเวลาจัดที่เหมาะสมด้วย เช่น ช่วงกลางวัน หรือช่วงเย็นที่ผู้อ่านจะว่างเว้นจากภารกิจต่างๆ เป็นต้น